ฟันคุด

ฟันคุด

ฟันคุด


ได้ยินคำนี้หลายคนก็คงรู้สึกกังวล ว่าตัวเองจะมี ฟันคุด หรือไม่มี อยากรู้ว่าถ้ามีควรผ่าออกหรือไม่ มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ส่วนคนที่จะจัดฟันก็อาจจะสงสัยว่าควรผ่าก่อนหรือหลังจัดฟัน หรือ มีฟันคุดแล้วต้องจัดฟันหรือไม่ ซึ่งในบทความนี้จะอธิบายเพื่อไขข้อข้องใจให้ครับ

ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่โผล่ขึ้นมาในช่องปาก หรือโผล่ขึ้นมาได้บางส่วน

สาเหตุของฟันคุด


-มนุษย์ยุคปัจจุบัน ทานอาหารที่มีความแข็งและเหนียวไม่เท่ามนุษย์โบราณ จึงมีวิวัฒนาการให้ขากรรไกรเล็กลง ทำให้พื้นที่ไม่พอสำหรับการขึ้นของฟันทุกซี่

-โรคทางระบบบางอย่าง

ฟันคุดควรผ่าออกทุกซี่หรือไม่


-ฟันทุกซี่ที่ขึ้นไม่ถูกตำแหน่ง และไม่ทำหน้าที่ที่ดีในช่องปากควรพิจารณาผ่าตัดออก แต่บางกรณีทันตแพทย์ก็ไม่สามารถผ่าออกได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน

ฟันคุดทำให้ฟันซี่ข้างเคียงผุได้
ฟันคุดทำให้ฟันซี่ข้างเคียงผุได้

ข้อบ่งชี้ในการผ่าฟันคุด


1.การติดเชื้อ มักพบกับฟันที่กำลังจะขึ้นหรือขึ้นบางส่วน มีอาการอักเสบรอบๆ ของเนื้อเยื้อฟันที่จะขึ้น เรียกว่า “ฝาเหงือกอักเสบ” มักจะมีอาการเป็นๆหายๆ บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อ ทำให้บวมบริเวณแก้มได้ **ดังนั้นฟันคุดที่ขึ้นได้บางส่วน ส่วนมากมีความจำเป็นต้องผ่าออก**

2.ฟันคุดผุ หรือมีอาหารยัดบริเวณฟันคุดขึ้น ซึ่งจะทำให้ฟันข้างเคียงผุตามไปด้วย

3.ฟันคุดขัดขวางการขึ้นของฟันซี่อื่นๆ

4.ฟันคุดเป็นจุดอ่อนทำให้ขากรรไกรล่างหักได้ง่าย

5.ฟันคุดเป็นสาเหตุให้เกิดถุงน้ำ

ฟันคุดอยู่ติดเส้นประสาท หลังผ่าอาจจะมีอาการชาได้
ฟันคุดอยู่ติดเส้นประสาท หลังผ่าอาจจะมีอาการชาได้

ข้อห้ามในการผ่าฟันคุด

 

1.ฟันคุดซี่นั้น อยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถขึ้นมาในช่องปากและใช้งานได้

2.ปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง

3.ฟันคุดอยู่ลึก มีกระดูกคลุมทั้งหมด และอยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ เช่น เส้นประสาท หรือในโพรงอากาศ ซึ่งการผ่าตัดเป็นอันตรายและเกิดปัญหาแทรกซ้อนมากกว่าเกิดผลดีจากการผ่าฟันคุด

ฟันคุด1-We-Dent

มีอาการบวมหลังผ่าฟันคุดควรทำอย่างไร


หลังผ่าฟันคุดส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ซึ่งการประคบจะช่วยให้อาการบวมไม่รุนแรง และหายบวมได้รวดเร็ว โดยควรประคบเย็นด้านนอกบริเวณแผลผ่าตัด(นอกปาก) 24-48 ช.ม. แรกหลังผ่าตัด โดยปฏิบัติทุกๆ 15 นาที เว้น 15 นาที สลับกันไป และหลังจากนั้นประคบอุ่น จนกระทั่งอาการบวมลดเป็นปกติ ซึ่งจะใช้เวลา 5-7 วัน หากมีอาการบวมผิดปกติ และไม่ยุบบวมควรกลับมาปรึกษาทันตแพทย์

ถ้าจะจัดฟัน จำเป็นต้องผ่าฟันคุดก่อนหรือไม่


โดยปกติคนไข้ที่จะจัดฟัน จะมีข้อบ่งชี้ในการผ่าฟันดังกล่าวออกคล้ายกับคนไข้ทั่วไป ยกเว้นแต่แผนของการจัดฟันจะสามารถทำให้นำฟันคุดมาใช้งานได้ หรือทำให้ฟันคุดขึ้นได้ง่ายขึ้น ทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น

คนไข้อายุช่วง 10-14 ปี ส่วนใหญ่จะยังไม่จำเป็นต้องเอาฟันคุดออก หากไม่ต้องเคลื่อนฟันกรามไปด้านหลังตรงตำแหน่งที่มีฟันคุดและฟันคุดนั้นยังอยู่ในกระดูกทั้งซี่ แข็งแรงและไม่เบียดเบียนใคร ส่วนผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 25 ปี ที่ต้องการจัดฟันและตรวจพบว่ามีฟันคุด อาจต้องเอาออกก่อนจัดฟัน ซึ่งควรสอบถามจาก ทันตแพทย์จัดฟันที่ทำการรักษาให้

ถ้ามีฟันคุดที่อยู่ในข้อบ่งชี้ในการผ่า แต่ไม่มีอาการใดๆ ไม่ผ่าได้หรือไม่


ฟันคุดที่ไม่มีอาการ แต่อยู่ในข้อบ่งชี้ที่ควรผ่า แนะนำว่าควรผ่าออก เพราะหากไม่ผ่าออกจะเกิดผลเสียในระยะยาว เช่น ทำให้ฟันข้างเคียงที่เราใช้งานเป็นปกติ ต้องมีปัญหาตามมาด้วย ไม่ว่าจะผุ ปวด จนถึงขั้นสูญเสียฟันดีๆ หากเสียฟันข้างเคียง ก็จะทำให้ฟันคู่สบยื่นยาวลงมา และอาจจะต้องถูกถอนต่อไป การไม่ผ่าฟันคุดออก 1 ซี่ในปัจจุบัน อนาคตก็อาจจะต้องผ่าอยู่ดีและมีฟันดีๆ ที่ต้องถูกถอนร่วมด้วยอีก 2 ซี่

ฝาเหงือกอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้การติดเชื้อลุกลาม จนทำให้หน้าบวม และในรายที่เป็นมากๆอาจรุนแรงถึงขัดขวางทางเดินหายใจ

รูปอาการฝาเหงือกอักเสบ: อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมท้ายบทความ

รูปภาพ film ของคนไข้อายุ 32 ปี: อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมท้ายบทความ

อายุมีผลต่อการผ่าฟันคุดหรือไม่


เมื่อคนเราอายุมากขึ้น กระดูกจะแข็งขึ้น แต่การซ่อม สร้าง ตลอดจนการหายของแผลจะไม่ดีเท่าในช่วงวัยรุ่น การผ่าฟันคุดจะยากขึ้น และความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงในการผ่าฟันคุดเพิ่มขึ้น เช่น ฟันที่อยู่ติดกับฟันคุดเป็นโรคเหงือก อายุที่เหมาะสมในการผ่าฟันคุด เฉลี่ยอยู่ที่ 16-20 ปี เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว จะเอาออกง่ายและ เกิดอาการบวมช้ำจะน้อย

รูปภาพอาการฝาเหงือกอักเส

ฝาเหงือกอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้การติดเชื้อลุกลาม จนทำให้หน้าบวม และในรายที่เป็นมากๆอาจรุนแรงถึงขัดขวางทางเดินหายใจได้

รูปภาพ film ของคนไข้อายุ 32 ปี

สำหรับคนไข้อายุเยอะ หลังผ่าฟันคุดแล้วพบว่าฟันซี่ติดฟันคุดผุถึงโพรงประสาทฟัน และมีการสร้างกระดูกบริเวณแผลของฟันคุดน้อยมาก ทำให้กระดูกหุ้มรากฟันมีน้อย ฟันทั้งผุและเป็นโรคบริทันต์ มีแนวโน้มจะต้องถูกถอนในเวลาอีกไม่นาน – หากผ่าฟันคุดตั้งแต่ช่วงเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ปัญหาและผลข้างเคียง น้อยกว่า ปล่อยทิ้งไว้ไปนาน

Credit: หนังสือฟันคุด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล – มนัส โรจน์วนาการ , สุทัศ รักประสิทธิ์กูล

สาเหตุฟันคุด การตรวจฟันคุด

การผ่าฟันคุด ผลข้างเคียง

การปฏิบัติตัวหลังผ่าฟันคุด ไม่ผ่าฟันคุดได้มั้ย

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.